เล่าประสบการณ์ตรงการเรียนหนังสือสไตล์ “อังกฤษ” : จริงหรือที่ว่าเด็กฝรั่งเรียนสบาย?

376957286_e8dacee85e

ทุก ๆ วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เลคเชอร์ให้นักศึกษาไทยอยู่บ้าง อาจจะไม่ได้บ่อยนัก แต่ก็มากพอที่จะเข้าใจธรรมชาติของนักศึกษาไทย หลายคนมีความสนใจในสิ่งที่พูดดี แต่เมื่อถึงคราวเปิดให้มีส่วนร่วมในการถามคำถาม กลับใช้เวลานานมากกว่าจะมีใครสักคนกล้าที่จะถามคำถามขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง และยิ่งหากเปิดให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ยิ่งกลับไม่มีใครยกมือ

ว่าแล้วก็นึกไปถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินเด็กไทย (รวมทั้งตัวผู้เขียนสมัยเด็ก ๆ เองด้วย) พูดตลอดเวลาว่า “อยากให้การศึกษาไทยเป็นเหมือนเมืองนอกจัง” เพราะเราคิดว่า เด็กฝรั่งไม่ต้องท่องจำ ไม่ต้องมีการบ้านหรือ project ท่วม และคิดไปเองว่า “เด็กฝรั่งไม่ต้องเรียนหนักเท่าเด็กไทย”

เด็กฝรั่งไม่ต้องเรียนหนักจริงหรือ? แล้วการศึกษาไทยจะเป็นอย่างระบบตะวันตกได้ไหม?

ผู้เขียนจะขอเล่าประสบการณ์การเรียนหนังสือสไตล์ “อังกฤษ” ให้ฟังเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ เหตุที่ต้องขอเปรียบเทียบกับระบบอังกฤษนั้น เนื่องจากผู้เขียนมีประสบการณ์ตรง เป็นระบบที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากไทยอย่าง extreme มากกว่าระบบอเมริกัน

บางสิ่งที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนน่าอิจฉา

  •  คลาสเล็กเว่อ ๆ แค่ 3-8 คน

คลาสตอนสมัยเรียนมัธยมไปจนถึงปริญญาตรี มีราว ๆ คลาสละ 3-8 คน พอปริญญาโท ก็เพิ่มเป็นราว ๆ 10-20 คน นี่อาจจะฟังดูแล้วน่าอิจฉาสำหรับเด็กไทย คลาสเล็กก็แปลว่า อาจารย์สามารถ concentrate กับการสอนเราได้ดีขึ้น อาจารย์จะรู้จักเราดีมาก แม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัย (ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมมหาวิทยาลัยในอังกฤษถึงให้ความสำคัญกับ recommendation letter ของอาจารย์เวลาสมัครเรียน)

  •  จำนวนวิชาเรียนน้อยมาก ปีละ 3-4 วิชา เอง 

สมัย ม.ปลาย (A-levels) เรียนแค่ 3 วิชา วิชาละ 4-5 ชั่วโมง อาทิตย์นึงเรียนแค่ 12-15 ชั่วโมง ก็แค่วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง

สมัย ป.ตรี วิชากฎหมายที่ผู้เขียนเรียนนั้น ยิ่งเข้าคลาสน้อยเข้าไปใหญ่ เรียนแค่ปีละ 4 วิชา วิชาละ 1-2 ชั่วโมง อาทิตย์นึงเรียนแค่ 6-8 ชั่วโมง เท่านั้น อาทิตย์นึงอาจจะเข้าคลาสเรียนแค่ 2-3 วัน นอกนั้น เป็นวันอิสระ

โหย..สวรรค์เลย แบบนี้ก็เวลาเหลือเพียบ ไปเที่ยวเล่นได้

  •  แทบจะไม่มีการบ้าน

แบบนี้ก็เวลาเหลือเพียบล่ะสิ

  •  สอบปีละ 1-2 ครั้ง ไม่เกินนี้ 

ส่วนใหญ่ ป.ตรี จะสอบเก็บคะแนนปีละ 1 ครั้ง บางมหาวิทยาลัย/บางคณะ (เช่น Oxford) มีการสอบเก็บคะแนนเพียงแค่ 1 ครั้ง ในตลอดช่วง 3 ปี ของการเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น (ป.ตรี อังกฤษเรียน 3 ปี) นอกนั้นเป็นการสอบเล่น ๆ ไม่ได้นำมาคิดต่อผลคะแนนสุดท้ายของเรา ปีนึง อ่านหนังสือแค่ครั้งเดียวก็ยังได้สิงี้ ระบบอังกฤษสบายสุด ๆ จริง ๆ

ฟังดูแบบนี้แล้ว “เด็กฝรั่งไม่ต้องเรียนหนัก” ก็คงจะฟังดูไม่ไกลความจริงนัก แต่ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมอง “อีกแง่หนึ่ง” ให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจในระบบการศึกษาสไตล์อังกฤษได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น แล้วเรามาดูกันว่า เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษาแบบนี้ได้หรือไม่

376959483_d299f6aa3c

1. คุณต้องอ่านมาก่อนเข้าคลาส

การอ่านหนังสือก่อนเข้าคลาสของอังกฤษ โดยเฉพาะในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมีการทำเป็นระบบ คือจะมี “reading list” ให้สำหรับทุกวิชา ในทุกเทอมล่วงหน้า เช่น

Week 1: Essential Reading (จำเป็นต้องอ่าน)

  • Book A (Edition XX), p.35-68
  • Book B (Edition XX), p.147-163, 178-198
  • Book C (Edition XX), p.78-88, 105-154, 203-212

Further reading (อ่านเสริมแล้วจะแกร่งยิ่งขึ้น)

  • Book D (Edition XX), p.45-98
  • Book E (Edition XX), p. 106-120
  • Book F (Edition XX), p.45-78, 90-96

สำหรับการเรียน 1 วิชา อาจจะต้องอ่านก่อนเข้าคลาสประมาณ 200-300 หน้า หาก 1 หน้า ใช้เวลา 1 นาที (สมมติว่าคุณอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องเท่าเจ้าของภาษาแล้วกัน) ก็จะต้องใช้เวลาอ่านก่อนเข้าคลาสวิชาละ 3-5 ชั่วโมง เรียน 4 วิชา จะต้องใช้เวลาอ่านหนังสือทั้งหมด 12-20 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ

ในการเรียนหนังสือ ป.ตรี เขาจะระบุว่า ใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละ 20 กว่าชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่สอนจริงแค่ไม่ถึง 10 ชั่วโมง นั่นคือ เขารวมระยะเวลาขั้นต่ำของการอ่านหนังสือเข้าไปด้วยแล้ว เป็นขั้นต่ำที่จะทำให้คุณมีชีวิตรอดไปจนเรียนจบ

หลายคนอาจจะคิดว่า ก็อ่านแบบ “ส่ง ๆ” ไป ไม่ต้องอ่านให้รู้เรื่องทั้งหมดหรอก อันนี้ขอบอกว่าคุณคิดผิดค่ะ เพราะสิ่งที่จะอธิบายในข้อถัดไป

2. อาจารย์เขาไม่สอน เขาจะให้คุณแสดงความเห็น

เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องเผชิญสมัย ป.ตรี ที่ค่อนข้างทำให้ culture shock ไม่เบา เราอาจจะคาดหวังว่าจะมีเลคเชอร์ในแต่ละวิชา แต่เปล่าเลย ในมหาวิทยาลัยและคณะที่ผู้เขียนเรียนนั้น มีเลคเชอร์เฉพาะ ปี 1 ใน “บางวิชา” เท่านั้น เมื่อเลยปี 1 ไปแล้ว ก็ไม่มีเลคเชอร์ใด ๆ อีก ทุกวิชาที่เรียนคือ การเดินเข้าห้องเรียนเล็ก ๆ (หรือห้องของอาจารย์) นั่งลงสุมกันในโต๊ะ มีนักเรียน 3 คนบ้าง หรือวิชาฮิต ๆ ก็ 8 คน จากนั้นอาจารย์ก็จะเริ่มพูดว่า

“อ่ะ วาว คุณคิดยังไงกับผลการตัดสินกรณี Sunday Trading ของ EU”

จากนั้นก็จะเป็นการสนทนาเต็ม stream

ถ้าไม่ได้อ่านมา ชีวิตก็แทบหาไม่เลยทีเดียว แล้วก็ไม่ใช่แค่การอ่านอย่างผิวเผินจะพอเพียง เพราะเรายังจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งพอที่จะวิเคราะห์หรือถกเถียงกับใครเขาได้  คุณไม่มีทางหลบหน้าผู้สอนหรือใครได้เพราะว่ามีกันอยู่ 3 คน

เหตุที่เขามาถึงปุ๊บแล้วไม่สอน ก็เพราะเขาถือว่า สิ่งที่จะต้องอธิบายในลักษณะเลคเชอร์นั้นมี material ให้อ่านอยู่แล้วมากมาย มีคนเขียนหนังสือไว้เพียบ เป็นหน้าที่ของนักเรียนที่จะต้องรับผิดชอบเรียนเอง หน้าที่ของผู้สอนคือการ “ต่อยอด” ความคิด-วิเคราะห์-สังเคราะห์ ให้คุณ go beyond textbooks ไม่ใช่การบอกเล่าสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เพราะนี่คือหน้าที่ที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย คือ การทำให้คุณได้ฝึกกระบวนการคิด ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็สามารถหาหนังสือเหล่านี้มาอ่านเองโดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย

3. ไม่ใช่แค่ Participate แต่ต้อง Contribute ให้กับคลาส

DSC_3305

หลายคนอาจจะคิดว่า การเรียนสไตล์ตะวันตก = การถามคำถาม แค่นั้น อยากจะบอกว่าคุณคิดผิด

การเรียนในห้องสไตล์ตะวันตก โดยเฉพาะในระบบอังกฤษ คือ การที่คุณมีพื้นฐานความรู้อยู่แล้วจากการอ่านมา และคุณร่วมวิเคราะห์ต่อยอด การถามคำถามเป็นสิ่งที่ “ทำได้” แต่ไม่ใช่การ “ถามอะไรก็ได้เพื่อให้ดูว่าเรา participate”

เพราะการมีส่วนร่วมในคลาสไม่ใช่แค่การ “participate” แต่หมายถึงการ “contribute” อย่างแรกนั้น คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคลาส เช่น ถามคำถามอะไรสักอย่างเพื่อให้ตัวเองเข้าใจ แต่อย่างหลังนั้น คือการเข้าร่วมที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น การแสดงความคิดเห็นที่มีคุณค่า การถามคำถามที่มีคุณค่าต่อคลาสนั้น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในการเรียน Politics ระดับมัธยม ขณะที่กำลังเรียนเรื่องระบบการเลือกตั้งของอเมริกา คำถามทั่วไป เช่น “อาจารย์ครับ รัฐไหนมี Caucus เป็นรัฐแรกนะครับ” ไปจนกระทั่ง “ทำไมเริ่มต้นอเมริกาถึงมี Electoral College ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี” เพราะคำถามนี้เป็นคำถามที่มีการเขียนถึงมากมาย และคุณควรจะได้อ่านมาก่อนในคลาส แต่คำถามที่จะ contribute ต่อคลาส เช่น “ด้วยแนวคิดของอเมริกันชนยุคปัจจุบัน Electoral College ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกตั้งไหม?”

และไม่ใช่แค่การถามคำถามผู้สอน แต่คุณควรจะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองแต่แรกและสามารถเสนอออกมาในคลาสได้ด้วย และมีความเป็นไปได้มากว่า ผู้สอนจะถามความเห็นคุณก่อนแน่นอน

ซึ่งแน่นอนว่าการ contribute ในระดับ ป.ตรี ก็ย่อมต้องลึกซึ้งกว่าระดับมัธยม และระดับ ป.โท ก็ต้องลึกซึ้งกว่าระดับ ป.ตรี ดังนั้น ไม่ใช่แค่การ “ถามคำถามอะไรก็ได้” แล้วก็ได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมในคลาสแล้ว

4. ข้อสอบที่ “กว้าง-แต่-ลึก”

อันนี้เป็นสไตล์การเรียนที่เป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษ คือ การสอบเพียงไม่กี่ครั้ง (ระบบอเมริกันจะต่างจากนี้ เพราะจะมี quiz บ่อย ๆ) ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนชีวิตจะง่าย แต่ไม่จริง เพราะแม้ว่าระหว่างทางที่เรียนหนังสือ เราจะถูกทดสอบด้วยการส่ง essay อาจารย์ ก็จริง แต่การทำข้อสอบแบบที่ต้องเขียนอธิบายจริงจัง ภายใต้ความกดดันของเวลา ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชิน และที่สำคัญ ตลอดปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการเก็บคะแนนอะไรมาช่วยเหลือเราแม้แต่น้อย

ในการเรียนวิชาสายสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ตาม โดยที่ข้อสอบมักจะมีคำถามไม่กี่ข้อ ข้อสอบหลายข้อจึงเป็นคำถามสั้น ๆ สไตล์ “กว้าง-แต่-ลึก” (ไม่ทุกข้อ แต่ความเห็นส่วนตัวคือค่อนข้างเยอะ) เมื่อเทียบกับข้อสอบแบบ “แคบ-แต่-ตื้น” ที่เป็นการถามเจาะจง specific ทำให้เรารู้ scope ของการตอบที่แน่นอน

เช่น “จงอภิปรายบทบาทของ UN Security Council ต่อทิศทางกฎหมายระหว่างประเทศ” คุณจะยกเคสไหน ทฤษฎีไหนมาอธิบาย แน่นอนว่าทำได้โดยอิสระ แต่เวลาที่จำกัด หากพุ่งประเด็นไปไม่ถูก บทวิเคราะห์ที่ออกมาไม่ดีพอ ก็อาจจะทำให้คะแนนของคุณหดหาย (มีคำถามแบบนี้ 4 ข้อ ให้เวลา 3 ชั่วโมง ตัวตัดสินสิ่งที่คุณเรียนมาทั้งปี)

ในระบบการเรียนแบบสอบปีละ 1-2 ครั้ง นักศึกษาจะต้องมี discipline สูงมาก เพราะไม่มี “ตัวช่วย” หรือใครมากระตุ้น และหากทิ้งกองหนังสือส่วนที่ยังไม่ได้อ่านเอาไว้ ค่อยไปอ่านก่อนสอบ แตะ ๆ ผิวเผินอยู่แค่ไม่กี่บท ก็ไม่มีทางทัน ไม่มีทางที่จะตอบคำถาม “กว้างแต่ลึก” แบบที่ยกตัวอย่างให้ได้

5. ทางเลือกเดียวคือ การพึ่งตัวเองเท่านั้น

ระบบการศึกษาไทยมีเอกลักษณ์ของสังคมแห่งการพึ่งพา การช่วยเหลือกัน แต่ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่มีให้เห็น กลุ่มเพื่อน hang out กัน ก็คือ hang out เมาเหล้ากัน ไม่ได้มีการจับกลุ่มติว แจกโน้ต แจกโพยวิชาต่าง ๆ ที่อังกฤษไม่มีระบบพี่รหัส-น้องรหัส ไม่มีการส่งต่อโน้ตระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะธรรมชาติของคนอังกฤษเอง หรืออาจจะเป็นเหตุผลที่ตัวระบบการเรียน

ด้วยระบบการเรียนที่ต้อง “อ่านก่อนเข้าห้องเรียน” ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในอังกฤษใช้เวลาไปกับการ “อยู่กับตัวเอง” เพื่อเรียนหนังสือค่อนข้างเยอะ แน่นอนว่าการพักผ่อน เที่ยวเล่น กินเหล้า นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ทั้งสองกิจกรรม (เรียน และสังสรรค์) มักจะแยกออกจากกัน หลายคนเข้า-ออกห้องสมุด แล้วก็ตามด้วยการนั่งดื่มเบียร์ในผับกับเพื่อน ๆ ต่อ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของสไตล์การสอบ ทำให้ไม่มีข้อสอบใดที่สามารถ “ติวได้” ทุกสิ่งที่เรียบเรียงเขียนลงไปในข้อสอบมาจาก inner ทั้งนั้น หนทางเดียวที่คุณทำได้คือ “พึ่งตัวเอง” โดยการอ่านหนังสือเอง และติวตัวเอง วิธีหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าได้ผลมาก คือ การฝึกทำข้อสอบภายในเวลาที่จำกัดด้วยตนเอง จากนั้น ก็นำคำตอบนั้นมาอ่านดูแล้วดูว่าเรายังขาดประเด็นสำคัญตรงไหนอย่างไร โดยให้เวลากับตัวเองอย่างเต็มที่และเขียนคำตอบที่ perfect ออกมา จากนั้น ให้ลองทำข้อสอบเดิมใหม่อีกรอบภายใต้เวลาที่จำกัดเหมือนเดิม เราจะพบว่าเราทำได้ดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อเราเจอข้อสอบที่มีหัวข้อใกล้เคียงกันนี้ เราก็จะทำได้ดี

มาถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าอย่างไรกันบ้างกับการศึกษาในระบบแบบนี้ ที่จะต้องอาศัยทั้งการพึ่งตนเองและการมี discipline ที่สูงมาก แบบนี้แล้วยังคิดว่า “เด็กฝรั่งเรียนสบาย” กันอยู่ไหม

ที่สำคัญคือ เราพร้อมไหมหากการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปใช้ระบบแบบนี้ เพราะไม่ใช่เพียงผู้สอนที่จะต้องปรับตัวไปในทางที่รับฟังความเห็น กระตุ้นความคิด เปลี่ยนจากการเล่า “ข้อเท็จจริง” เป็น “แนวคิด” ฯลฯ แต่ผู้เรียนเองจะต้องปรับตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะต้องมีความพร้อมก่อนการเข้าห้องเรียนทุกครั้ง สามารถ contribute ให้กับคลาสได้อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองจากผู้เรียนรู้ “ข้อเท็จจริง” เป็นผู้ที่สร้างสรรค์ “แนวคิด” ให้ได้ 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้เขียนรับทุนไปศึกษาที่อังกฤษตั้งแต่ระดับชั้น A-levels (มัธยมปลาย) ที่เมืองเคมบริดจ์ เข้าเรียนวิชากฎหมายในระดับปริญญาตรี ที่ King’s College London และปริญญาโทที่ London School of Economics and Political Science ก่อนหน้านั้น เรียนหนังสือที่ประเทศไทยในโรงเรียนระบบของไทย โดยเคยได้รับทุนการศึกษาไปแลกเปลี่ยนและเข้าเรียนในคลาสเรียนเป็นเวลาสั้น ๆ ที่ออสเตรเลีย (ระดับประถมปลาย) และญี่ปุ่น (ระดับ ป.ตรี มหาวิทยาลัย Hyogo คอร์สสอนเป็นภาษาอังกฤษ)


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *