[ แผนที่รถเมล์ที่ป้ายรถเมล์ เรื่องแค่เนี้ย? ทำไมทำไม่ได้ ]

วันนี้เดินออกจากที่ทำงานเวลา 2 ทุ่ม ก็พบว่าไม่มีแท๊กซี่เลย ก็เลยเดินไปที่ป้ายรถเมล์ใกล้ ๆ แล้วรถเมล์ก็วิ่งมา…เป็นสาย 69 ข้าง ๆ ติดโฆษณาทึบ ไม่มีบ่งบอกว่าไปที่ไหน และเราก็พลาดรถเมล์คันนั้นไป เพราะไม่รู้ว่าถ้าขึ้นไปนี่มันจะไปบ้านฉันไหม!

สายรถเมล์นั้นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เหมือนถ่ายทอดกันมาเป็นวิทยายุทธ์ บอกต่อกันมาตั้งแต่รุ่นยาย เพราะมันไม่เคยมีแผนที่่ติดอยู่ที่ป้าย แต่คนกรุงเทพฯ หลายคนก็ยังขึ้นกันได้!

แต่สำหรับคนที่ไม่เคยขึ้น หรือขึ้นไม่บ่อย เช่น นักท่องเที่ยว คนต่างจังหวัด และแม้แต่ชนชั้นกลางที่ขับรถเป็นประจำ…จะไปรู้สายรถเมล์ได้อย่างไร ?

คำตอบที่ยอดฮิตก็คือ

1. “ก็ดูข้าง ๆ รถเอาสิ”

คือ..ป้ายบอกที่ว่ารถคันนี้ไปไหนเนี่ย กว่าจะมองเห็นก็ต้องเป็นเวลาที่รถใกล้มาจอดเทียบแล้ว และรถเมล์กรุงเทพฯ อย่างที่เห็นก็คือ ชะลอตัว…แล้วก็วิ่งไปเลย! ถ้าจอดก็ไม่เกิน 10 วินาที แล้วแบบนี้ จะมีเวลาอ่านทันได้อย่างไร? (ผู้เขียนสายตาสั้นอะนะ เลยเป็นเคสที่แย่กว่าชาวบ้านอีก)

ที่แย่กว่านั้น คือ บางคันยังเจอโฆษณาปิดมิด! อย่างเช่นสาย 69 วันนี้ของเรา โผล่มาแต่ชื่อต้นสาย แต่ผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ รึเปล่า ก็ไม่อาจทราบได้

ที่สำคัญ ป้ายบอกข้างรถเมล์จะใช้ “ชื่อ” สถานที่ ไม่ใช่แผนที่ ซึ่งหากคนที่ไม่คุ้นเคยกับแผนที่กรุงเทพฯ อาจสับสนได้ว่า มันจะวิ่งเส้นทางไหน แม้จะอ่านทันก็ตาม

2. “ดูจากเน็ตไปก่อนสิ”

ถ้าวางแผนได้หลายคนคงวางแผน แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ เราคงไม่ได้วางแผนแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการนั่งรถเมล์เป็นประจำ รถเมล์จะเป็นทางเลือกรองสุดท้ายสำหรับพวกเขา (ก่อนการ “เดิน”) ในกรณีที่ไม่มีการขนส่งอื่น เช่น รถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้า แท๊กซี่ ตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เขามักจะไม่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า (3G ก็ช้า จะเปิดมือถือดูก็นะ)

3. “ซื้อแผนที่รถเมล์สิ”

หากทุกคนต้องซื้อแผนที่พกติดตัว มันจะไม่ practical กว่าเหรอ ที่จะติดป้ายแผนที่รถเมล์ใหญ่ๆ ไว้ตรงป้าย ซึ่งมีที่กว้างมากมายมหาศาล ?

แผนที่รถเมล์ที่ป้ายรถเมล์เป็นอย่างไร แตกต่างจากแผนที่รถเมล์ทั่วไปอย่างไร?

1. แผนที่รถเมล์ทั่วไป :  จะเป็นแผนที่ธรรมดาอย่างที่เราอาจจะเคยเห็นของกรุงเทพฯ ก็คงมี บอกจุดต่าง ๆ ที่รถไปจอด บอกสายรถเมล์ และอาจจะบอกสถานที่สำคัญ

http://www.mappery.com/

2. แผนที่รถเมล์ผืนใหญ่ที่ติดอยู่ด้านหลังของป้ายรถเมล์ (ตรงที่เรานั่งรอ) :  จะ zoom in ให้เห็นว่า เราอยู่ที่จุดไหน และบอกด้วยว่า “ป้ายบริเวณใกล้เคียง” มีอะไรบ้าง เพราะบางทีเราอาจจะขึ้นรถเมล์ผิดฝั่งก็ได้ ด้านข้างจะมี list รายชื่อสถานที่สำคัญที่เราต้องการจะไป เช่น สมมติเราต้องการจะไป Peckham เราก็ดูตัว “P” ไล่ลงมาจนเจอ Peckham แล้วมันจะบอกว่าเราต้องขึ้นที่ป้าย A, B, C หรือ D ณ บริเวณนั้น

3. แผนที่ป้ายรถเมล์ตรงป้าย :  จะเขียนแยกย่อยให้เห็นว่า ป้ายนี้มีสายอะไรบ้าง และแต่ละสายไปไหน ถ้า advance กว่านั้นก็อาจจะมีบอกว่ามาทุก ๆ กี่นาที หรือมาเวลาเท่าไหร่บ้าง หากตอนกลางคืนวิ่งต่างจากตอนกลางวันก็จะมีบอกแยกต่างหาก

https://parkerworldtour.files.wordpress.com/2012/03/detail-maps-london-busstop-tfl.jpg

สำหรับกรุงเทพฯ ไม่ต้อง advance ขนาดเบอร์ 3 ก็ได้ ขอแค่แผนที่เบอร์ 2 ก็พอใจแล้วล่ะ ^ ^

อันที่จริงแผนที่รถเมล์ ควรเป็นสิ่งที่ ขสมก.มีอยู่แล้ว และงบการติดแผ่นกระดาษก็คงไม่ได้มากมายขนาดนั้น คงจะน้อยกว่าการทำป้ายจราจรอัจฉริยะ หรือว่าป้ายแท๊กซี่อัจฉริยะเป็นแน่  และที่สำคัญ สามารถหา sponsor ได้ไม่ยากเลย

หากใครสมัครผู้ว่าฯ แล้วบอกจะทํา “แผนที่รถเมล์” ติดที่ป้ายรถเมล์ นี่จะเทคะแนนให้เลย หาเสียงให้ด้วยเอ้า..


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *