Rabbit Card กับอนาคตของขนส่งสาธารณะกรุงเทพฯ

ผ่านมาเกือบเดือนแล้วที่ Rabbit Card ได้ถูกนำมาใช้กับ BTS หลายคนที่ต้องเติมเงินใหม่จะรู้ดี เพราะเจ้าหน้าที่ของ BTS จะบอกว่า “ไม่เติมบัตร smartpass แล้วนะคะ ต้องเปลี่ยนเป็นบัตร rabbit” ทำเอาหลายคนงงงวย พร้อมกับยื่น smartpass คืนไป รับ rabbit card ใหม่มา และเสียเงินค่ามัดจำไป 50 บาท

แต่หลายคนก็ยังคงสงสัยกันอยู่ว่า “เอ๊ะ ทำไมถึงต้องเปลี่ยนกันล่ะ บัตร Rabbit ดีกว่าตรงไหน?” นั่นเป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายคนอยู่…

หน้าตา Rabbit Card แบบมาตรฐาน ผู้ใหญ่สีส้ม เด็กสีเขียว โกงยากกว่าเก่าที่เป็นสีเดียวกัน

ย้อนมองแนวคิดของ Rabbit 

บริษัทที่ทำ Rabbit Card นั้น ไม่ใช่ BTS เป็นบริษัท ๆ หนึ่ง ที่มีชื่อว่า บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ซึ่งชื่อก็บ่งบอกว่าเป็นบริษัทที่ทำ smart card นำระบบ Rabbit ไปเสนอกับ BTS โดยแนวคิด คือ ต้องการจะทำให้มี “บัตรอเนกประสงค์” ซึ่งเป็นระบบ “บัตรเติมเงิน” ที่ใช้แปะซื้อของที่ไหนก็ได้ สามารถใช้กับระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งซื้อสินค้า อาหาร เพื่อความสะดวกในเวลาเร่งรีบ

เทคโนโลยีและแนวคิดที่คล้ายกันนี้มีนานแล้วในต่างประเทศ เช่น บัตร Octopus ของฮ่องกง หรือบัตร Suica (แตงโม) ของญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จ คนฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีใครไม่มี เพราะว่าสะดวกซื้อของได้หลายอย่าง แถมยังสะสมแต้มและแลกของรางวัลได้ (แต่สังเกตว่าฝั่งยุโรปและอเมริกายังไม่คิดจะนำไอเดียแบบนี้มาทำ เพราะระดับ “ความยุ่งเหยิง” ของเมืองอาจจะต่างกัน)

หน้าตาบัตร Octopus ของฮ่องกง (ไม่น่ารักเหมือนชื่อแฮะ)

 

โฉมหน้าบัตร Suica ของโตเกียว ที่ฟ้องเสียงกับ suika (แตงโม) แต่มีรูปเพนกวิน 

ในหลักการแล้ว บัตร Rabbit Card จึงมี “ความสามารถ” ในการใช้ได้กับ BTS, MRT, BRT รวมทั้งสามารถใช้กับร้านค้าใดก็ได้ที่มาร่วมวงติดตั้ง Rabbit Card Reader กับเขา เมื่อ Rabbit Card เป็นวงจรบริการครบครันแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสะดวกต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเร่งรีบ

Rabbit Card ใช้ที่ไหนได้บ้าง

นอกจาก BTS แล้ว ร้านค้าที่ใช้ Rabbit Card จ่ายเงินได้ ได้แก่ McDonald’s, Burger King, Starbucks, Black Canyon, Dunkin Donuts, Mister Donut, Beard’s Papa, Auntie Anne, Au Bon Pain, Gourmet Market, Food Hall, Oishi Group (โปรดสังเกตว่า หลายบริษัทเป็นคู่แข่งกันโดยตรง แต่ก็ยอมใช้ Rabbit Card กันหมด เพราะคงกลัวตกขบวนรถไฟ)

ร้านค้าที่คุณสามารถใช้ Rabbit Card ซื้อได้  ขณะนี้ยังมีเฉพาะสาขาใกล้ BTS ต้องสังเกตดูป้ายที่ติดไว้               

สำหรับ MRT จะใช้ Rabbit Card ได้ภายในปีนี้ เป็นเพราะระบบนั้นยังติดตั้งได้ไม่เสร็จสิ้นดีนัก ยังมีการทดสอบระบบอยู่เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ดี สำหรับ BRT ตอนนี้ยังไม่มีข่าวเป็นทางการ แต่ก็น่าจะใช้ได้ในที่สุด

ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วทำไมจะต้องรีบเปลี่ยนมาใช้บัตร Rabbit Card?

คำตอบน่าจะเป็น เพราะ BTS เองก็ประกอบไปด้วย 2 ระบบ! ด้วยความที่ BTS ส่วนต่อขยาย กับ BTS สายดั้งเดิม (สายสุขุมวิทตั้งแต่หมอชิต – อ่อนนุช และสายสีลม) นั้น เป็นคนละเจ้าของ โดย BTS สายดั้งเดิม นั้นเป็นของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในขณะที่ BTS ส่วนต่อขยาย (อ่อนนุช – แบริ่ง) เป็นของกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ระบบการบริหารแยกกัน และที่สำคัญคือ รายได้เก็บแยกกัน

  •  BTS สายดั้งเดิม ต้องการใช้ระบบ “ตั๋วเที่ยว 30 วัน” กรณีเหมาจ่าย หรือระบบ “คิดค่าเดินทางตามระยะทาง” กรณีซื้อบัตรเป็นเที่ยว
  • ขณะที่ BTS ส่วนต่อขยาย ของกรุงเทพมหานคร (ซึ่งเดิมใช้บริการฟรีมานาน) ต้องการใช้คิดค่าโดยสารโดยใช้ระบบ “15 บาทตลอดสาย” (ซึ่งก็ไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดเหมือนกัน)

ด้วยความที่มี 2 ระบบ คิดเงินแยกกัน แต่บัตร smartpass ของ BTS เดิม ไม่มีความสามารถในการบรรจุข้อมูล 2 ส่วน ได้แก่ ส่วน “ตั๋วเที่ยว” กับ “เติมเงิน” จึงทำให้บัตร smartpass เก่านั้นใช้ไม่ได้ในส่วนต่อขยายด้วย! จึงทำให้ BTS นำ Rabbit Card มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้

เพราะหากไม่มี Rabbit Card แล้ว อาจจะต้องใช้บัตรแบบเติมเงินของส่วนต่อขยายแยกต่างหากเป็น 2 ใบ และทำให้คนต้องออกจากระบบที่อ่อนนุช และแปะเข้ามาใหม่อีกรอบเพื่อไปต่อ ซึ่งไม่ make sense อย่างแน่แท้

บัตรเดิมยังใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ 

จากข้างบน เรารู้แล้วว่า “บัตร smartpass ใช้ได้ใน BTS ส่วนเก่า” แต่ใช้ส่วนใหม่ไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า หากคุณไม่ได้เดินทางในส่วนต่อขยาย ก็สามารถจะใช้บัตร smartpass แบบเก่าไปได้เรื่อย ๆ จนถึงวันหมดอายุที่ BTS ประกาศจะห้ามใช้จริง นั่นคือ 31 ธ.ค. 2555    ทั้งนี้ smartpass ที่ว่า น่าจะต้องเป็น แบบเติมเงิน เพราะแบบเที่ยวน่าจะหมดอายุไปก่อน แต่บัตรนี้ใช้กับส่วนต่อขยายได้แม้จะเป็นบัตรเติมเงินก็ตาม เพราะว่าถือว่าเป็นบัตรเก่าของ BTS สายดั้งเดิม

จะเอา Rabbit Card ต้องทำอย่างไร

เมื่อวานเจอประกาศนี้ติดไว้ที่สถานีสยาม

บอกข้อมูลหลายอย่างละเอียดมาก สรุปได้ ดังนี้

1. นำบัตรโดยสาร BTS smartpass เดิมไปแลก จะเป็นประเภทเติมเงิน หรือ 30 วัน ก็ได้ นำมาแลกเป็น Rabbit Card ได้โดย เสียค่ามัดจำเพิ่ม 50 บาท  (สามารถขอคืนได้ตามเงื่อนไข) และต้องเติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท หากว่าจะเติมเที่ยวก็เติม on top ไป

2. หากไม่มีบัตร BTS เดิม จะต้องเสีย ค่าออกแรบบิทใหม่ 50 บาท (เป็นราคาโปรโมชั่น ราคาเต็ม 150 บาท) และชำระ ค่ามัดจำ 50 บาท (สามารถขอคืนได้ตามเงื่อนไข) และเติมมูลค่าตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไปเช่นกัน

มูลค่าสะสมสูงสุดของ Rabbit Card อยู่ที่ 4,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือในบัตร smartpass เดิมก็จะแปลงสภาพเป็นเงินในบัตร Rabbit ขณะที่ หากมี “จำนวนเที่ยว” เหลือ ตรงนี้จะไม่แปลงเป็นเที่ยว แต่จะแปลงเป็นเงินเหมือนกัน

บางคนตั้งคำถามว่า หากมีบัตร BTS เก่าแล้ว “มัดจำเดิมของเราหายไปไหน” จริง ๆ แล้วมันก็ซ่อนอยู่ใน “ค่าออกบัตร” น่ะแหละ ทำให้ผู้ที่ไม่มีบัตรเดิมก็เลยต้องเสีย 50 บาท

Carrot Rewards คืออะไร?

Carrot Rewards เป็นชื่อ การสะสมแต้ม ของ Rabbit Card โปรดอย่าเอามาสับสนกัน …ไม่มี Carrot Card และ Rabbit Rewards! (ยิ่งพูดแบบนี้คนอ่านยิ่งงงนะ!)

ทำไมต้องเรียกคนละชื่อ? เหตุผลทางการตลาด ง่าย ๆ คือ “มันน่ารัก”! ใช้กระต่ายแล้วได้แครอทอะไรงี้ (ฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ แต่ก็เอาเถอะ)

Carrot Rewards เป็นแต้มสะสมที่เกิดจากการเติมเงินและใช้บัตร Rabbit Card อย่างไรก็ดี พึงระลึกไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกที่ที่ใช้ Rabbit Card แล้วจะได้ Carrot Rewards” ขณะนี้ทราบมาว่า เฉพาะ BTS และ McDonalds’ เท่านั้นที่ใช้จ่าย Rabbit Card แล้วจะได้ Carrot Rewards นอกนั้น ใช้ได้อย่างเดียว แต่ไม่มีคะแนนสะสมให้

สำหรับของรางวัล ตอนนี้ที่เห็นก็มี McDonalds’, Major, ห้างและร้านค้าในเครือ The Mall, Gift Voucher ของ Air Asia

แม่สาว Rabbit บอกว่า 4 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ 1. สมัคร 2. เติมเงิน 3. รับคะแนนสะสม 4. แลกคะแนนสะสม Carrot Rewards

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Carrot Rewards ไม่ได้มาอัตโนมัติ! ผู้ใช้ Rabbit Card ทุกคนต้องไปลงทะเบียนต่างหากบนเว็บไซต์  www.carrotrewards.co.th เพื่อที่จะสะสมแต้มได้ (หลายคนคงสงสัยเหมือนเราว่าทำไมเขาต้องแยกเว็บกันระหว่าง Rabbit กับ Carrot ดูไปดูมาเขาเป็นคนละบริษัทกันนะ แม้ว่าจะตั้งอยู่ที่ตึกเดียวกันก็เถอะ)

อนาคตของ Rabbit 

จากที่ทดลองใช้ดูพบก็ว่าบัตร Rabbit Card ก็มีความสะดวกสำหรับเวลาซื้อของต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบพกเหรียญให้เกะกะ ก็สามารถนำไปแปะได้เลย คนที่เคยอยู่ญีปุ่นหรือฮ่องกงก็คงจะชอบใจเพราะว่าเป็นอะไรที่เคยชินอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องที่ว่า ยังไม่สามารถใช้กับ MRT และ BRT ได้ ในขณะนี้ ก็มีปัญหาบางอย่างอยู่ คือ การอ่านไม่เร็วเท่าเก่า บางคนแปะไปแล้วจะรู้สึกว่า มันอ่านช้ากว่าปกติในระดับเสี้ยววินาที ก็มีหลายคนให้คำอธิบายว่า เป็นเพราะว่ามีการ เก็บข้อมูลที่เยอะขึ้นและซับซ้อนขึ้น เลยทำให้การอ่านใช้เวลานานขึ้น แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะแก้ปัญหานี้ได้ (แต่บางคนก็อาจไม่รู้สึก เพราะเป็นแค่เศษเสี้ยววินาที)

สำหรับ อนาคตของ Rabbit Card เรามองว่า น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ๆ เมื่อเปิดใช้กับ MRT และ BRT เมื่อนั้นเราเชื่อว่าทุกคนจะหันมาใช้ Rabbit Card แน่นอน เพราะคงไม่มีใครชอบพกพาบัตรหลาย ๆ ใบ และเมื่อร้านค้าส่วนใหญ่หันมาสนใจติดตั้งเครื่องอ่าน Rabbit Card หรือมีการจูงใจเรื่องคะแนนสะสม Carrot Rewards ที่มากขึ้นกว่าตอนนี้ ก็จะสามารถไปได้ไกลอีก

สิ่งที่เราต้องการจะเห็น คือ ในอนาคตน่าจะมีการคิดค่าโดยสารแบบใหม่ที่รวมทั้งระบบ BTS สายเดิมและส่วนต่อขยาย หรือกระทั่งรวมกับ MRT (เช่น เหมารายเดือน) อันนี้ก็แล้วแต่การตกลงกัน ในบางประเทศสามารถที่จะทำได้สบาย (เช่น ลอนดอน เพราะขนส่งสาธารณะทุกอันเป็นของรัฐในลักษณะ Public-Private Partnership) ขณะที่บางที่อย่างญี่ปุ่นเอง ก็ยังไม่สามารถจะรวมเก็บค่าโดยสารด้วยกันเสียทีเดียว เพราะเป็นคนละเจ้าของ

การมี Rabbit Card ก็นับว่าเป็นก้าวแรกของการมีเทคโนโลยีที่อนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้  แต่สุดท้ายแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่จะต้องพยายามให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของทุก ๆ ฝ่าย นั่นคือ win-win situation ทั้งผู้ประกอบการเองที่จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นหาก Rabbit Card สามารถที่จะทำอะไรได้มากขึ้น หรือมีระบบคิดเงินที่ผู้ใช้รู้สึกว่า “ได้กำไร” กันทั้งสองฝ่าย เช่น การคิดเงินร่วมกันของระบบ BTS และ MRT ที่ทำให้ “ถูกลง” สามารถใช้จำนวนเที่ยวร่วมกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยี Rabbit Card สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

ขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่เราควรจะสนับสนุน และเราก็หวังว่า จะมีการผลักดันให้ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ เราก้าวหน้าขึ้นแบบบรูณาการ ไม่ใช่กระจัดกระจาย ซึ่งแนวคิดแบบ “องค์รวม” ของ Rabbit Card น่าจะเป็นตัวช่วยได้ไม่มากก็น้อย

 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *