เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่ช็อควงการการศึกษาต่อต่างประเทศ นั่นคือ London Metropolitan University ถูก UK Border Agency เพิกถอนใบอนุญาตให้สอนนักเรียนต่างชาติแล้ว ผลจากการเพิกถอนนั้น คือ นักเรียนกว่า 2,000 คน จะถูกลอยแพ นั่นคือ Visa ที่ออกให้กับนักเรียนโดยใช้ใบตอบรับของมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะถือเป็นโมฆะ และจะถูกส่งตัวกลับ (deport) ประเทศของตนภายใน 60 วัน เว้นเสียแต่ว่า จะสามารถหามหาวิทยาลัยมารองรับได้
ทำไมถึงน่าช็อค?
เรื่องนี้ช็อคเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตให้สอนนักเรียนต่างชาติ แม้ว่านิยามคำว่า “ต่างชาติ” ในที่นี้จะหมายถึงแค่ non-EU students (นั่นคือ EU students จะสามารถเรียนได้ต่อไป) แต่เด็กกว่า 2,000 คน ที่อยู่ระหว่างการศึกษามาได้อาจจะครึ่งทางแล้ว ก็จะต้องไร้ที่เรียน ยังไม่นับจำนวนเงินที่เสียไป และอนาคตของเขาที่ถูกทำลายไปโดยข่าวแง่ลบของมหาวิทยาลัย London Met ส่วนครั้นจะไปหามหาวิทยาลัยใหม่ก็ไม่ง่ายเลย โอกาสเรียกว่าเกือบศูนย์ เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใกล้เปิดเทอมกันแล้วเต็มที
เหตุผลที่ UK Border Agency ให้ในการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
มี 3 ประการ
- นักเรียน 1 ใน 4 ที่สุ่มตรวจไม่มี VISA
- นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษที่ควรจะเป็น
- กว่าครึ่งของที่สุ่มตรวจ มหาวิทยาลัยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านักเรียนเข้าคลาสเรียนจริง
หมายความว่าอย่างไร?
โดยที่หน้าที่หลักของ UK Border Agency หรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของ UK นั้น มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการลักลอบอยู่ใน UK แบบไม่มีวีซ่า พวกเขาจึงเป็นเหมือน “ด่านขั้นที่สอง” หลังจากผู้เข้าเมืองต่าง ๆ สามารถขอวีซ่าได้ และผ่านเข้ามาแล้วรอบหนึ่ง เนื่องจากหลายคน เมื่อได้วีซ่าแล้วก็อยู่ต่อใน UK แบบ “ผิดวัตถุประสงค์” นั่นคือ แอบอยู่เพื่อหางานทำ (กรณีที่ไม่เข้าคลาสเรียน) หรือไม่ก็วีซ่าหมดอายุไปแล้ว แต่ก็ไม่ไปต่อ เนื่องจากหลักฐานต่าง ๆ ไม่ครบ
ก่อนหน้านี้ UK ใช้วิธีเอาจริงเอาจังกับการสกัดกั้นนักเรียนตั้งแต่ “ด่านแรก” นั่นคือ การขอวีซ่า โดยในระยะหลัง ๆ นี้ หากนักเรียนยื่นใบ offer จากมหาวิทยาลัยชื่อไม่ดัง ซึ่งรับนักเรียนง่าย ก็มีโอกาสถูกปฏิเสธวีซ่าสูงเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี นี่เป็นกรณีแรกที่ UK Border Agency ใช้วิธีจัดการกับมหาวิทยาลัยโดยตรง
กระแสตอบรับ
กฎที่ออกมาเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแบบ “เชือดไก่ให้ลิงดู” แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ คนที่ออกมาประท้วงอย้่างชัดเจนเลยคือ มหาวิทยาลัย Cambridge ที่ประกาศไม่เห็นช่วยชัดเจนกับการเพิกถอนใบอนุญาตนี้ของ UKBA ซึ่งเรียกว่า “disproportionate” นั่นคือ London Met อาจถูกลงโทษเนื่องจากทำผิดกฎ แต่ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งบางส่วนมิรู้อิโหน่อิเหน่ กลับจะต้องมาโดยกระทบด้วยอย่างรุนแรง
หลายฝ่ายกล่าวถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเปิดรับต่างชาติ UK เนื่องจากไม่ใช่ครั้งแรกที่ UK มีมาตรการที่ไม่ได้เป็นมิตรกับนักเรียนต่างชาติ ก่อนหน้านี้ UK เพิ่งออกกฎที่ยกเลิกสิทธิโดยอัตโนมัติที่จะอยู่เพื่อหางานทำใน UK 2 ปี ความไม่แน่นอนนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่สำคัญของ UK นั่นคือ “การศึกษา”
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นดังกล่าว ส่วนตัวมองว่ายังเป็นแค่ “ผลกระทบทางตรง” เพียงอย่างเดียว ที่เกิดจากการขาดรายได้ของมหาวิทยาลัยที่โดนเพิกถอนสิทธินี้ และไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อจิตวิทยาของนักเรียนต่างชาติที่จะมาเรียน UK มากนัก เนื่องจากเป็นกรณีส่วนน้อย
อย่างไรก็ดี อนาคตหากมีมหาวิทยาลัยที่โดนเพิกถอนใบอนุญาตสอนนักเรียนต่างชาติแบบนี้เป็นครั้งที่ 2 เมื่อนั้นล่ะ.. คงเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดผวาของผู้ที่จะมาเรียนต่อ UK อย่างแน่แท้