ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ AEC

หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ AEC ราวกับว่ามีแล้วจะทำให้ประเทศไทยล่มสลาย ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร…วันนี้ไปอบรมมาที่กรมอาเซียน เลยมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนมาฝากกันค่ะ (ขอบคุณข้อมูลจากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ)

1. อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงจริงเหรอ?

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากร 600 ล้าน — มากกว่าทั้ง EU

ถ้ารวมกรอบความร่วมมือ ASEAN + 6 ประเทศคู่เจรจา (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) — ก็จะมีประชากรราว ๆ 50% ของโลก

GDP ของอาเซียนคือ $1.8 ล้านล้าน — มากกว่าเกาหลีใต้

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามาในอาเซียนคือ 7 หมื่นล้าน — 80% ของ FDI ในจีน

ไม่รู้ว่าเรียกว่าศํกยภาพสูงไหม..แต่ก็ไม่เลวเลยทีเดียว

2. ASEAN Community คือ ASEAN Economic Community สนใจด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว?

ในปี 2015 อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ ซึ่งมี 3 เสาด้วยกัน ได้แก่ ASEAN Political-Security Community (APSC), ASEAN Economic Community (AEC) และ ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) นั่นคืออาเซียนจะมีความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนเอง เพียงแต่ว่า ด้านเศรษฐกิจอาจจะมองเห็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมและอยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ จึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

3. พอถึงปี 2015 ปุ๊บ ไทยต้องแย่แน่ ๆ

ผลประโยชน์ของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น เกิดจากการรวมตัวเพื่อให้อาเซียนมีพื้นที่ยืนอยู่ในตลาดโลก เป็นแนวคิดเช่นเดียวกับ EU การดำเนินการเปิดเสรีของอาเซียนนั้น เป็นการดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป การมาถึงของ AEC ในปี 2015 ไม่ได้แปลว่า จะลดภาษีในอาเซียนลงฮวบฮาบ แรงงานจะเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ ใครจะเอาเงินหมุนไปที่ไหนก็ได้ของอาเซียนทันที เพราะทุกอย่างดำเนินการตามความพร้อมและค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงว่า แต่ละประเทศก็มีความพร้อมและความอ่อนไหวในเรื่องที่แตกต่างกัน

เรื่องการดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือเรื่องภาษี ซึ่งเป็น Tariff Barrier ของการค้า (trade) หลายคนคงได้ยินว่า ในปี 2015 นั้น ภาษีในอาเซียนจะกลายเป็น 0% อันที่จริงแล้ว ภาษีในอาเซียน 6 ประเทศก่อตั้ง (ไทย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย) เป็น 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2010 แล้ว นั้นหมายความว่าในปี 2015 จะเพิ่มแค่กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม เท่านั้น
สำหรับการเปิดเสรีด้านการบริการ (services) ในอาเซียน ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เปิดหมด มีเพียง 4 สาขา คือ สุขภาพ, ท่องเที่ยว, การบิน, e-ASEAN (โทรคมนาคม) และในปี 56 ก็จะเพิ่มอีก 1 สาขา คือ logistics

4. ต่อไปนี้ แรงงานทะลักกันเข้ามาแน่ ๆ 

การเคลื่อนย้ายของแรงงาน เป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดกันมากที่สุด จริงๆ แล้ว AEC กำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีทักษะ (skilled labour) ซึ่งจำกัดอยู่แค่ไม่กี่สาขาอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ช่างสำรวจ ฯลฯ เท่านั้น ซึ่งสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนอยู่แล้ว เช่น บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ก็มีความต้องการแพทย์จากไทย และพยาบาลจากฟิลิปปินส์ เป็นต้น

แน่นอนว่าสาขาอาชีพของแรงงานทักษะสูงน่าจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ไม่น่าจะขยายมาในระดับเดียวกับ EU ที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานโดยสมบูรณ์ที่รวมถึง unskilled labour ด้วย

5. เป็นหมอ…จะไปทำงานที่ไหนก็ได้!

อาจทำให้ผิดหวัง แต่การเคลื่อนย้ายของ “skilled labour” ในอาเซียนก็ไม่ได้แปลว่าจะไปทํางานได้เลย AEC นั้นกำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกันในประชาคมอาเซียน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่งทำให้การยอมรับ qualification ต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น ยอมรับวุฒิการศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การไปทำงานในอาเซียนก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบท้องถิ่นอยู่ดี เช่น เป็นหมอจากมาเลเซียจะทํางานในไทย ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของแพทยสภา เช่น ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ที่ require ให้สอบเป็นภาษาไทย (อาจเรียกได้ว่า barrier ต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ แม้ในกลุ่ม skilled labour)
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า สุดท้ายการเคลื่อนย้ายของ skilled labour ในอาเซียนก็ขึ้นกับความต้องการของประเทศเจ้าบ้านเป็นหลัก เช่น หากบรูไนต้องการหมอจากไทย ก็ต้องมีระเบียบที่ผ่อนปรนเพื่อรองรับหมอจากต่างชาติ ทั้งนี้ ก็จะต้องยึดหลักไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาเซียนได้ที่ www.mfa.go.th/asean

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *