วิธีฝึกนิสัยการใช้เงินให้กับลูกของแม่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หลายครั้งที่ได้ยินคำพูดที่ว่า “วัยรุ่นใช้จ่ายเกินตัว” โดยการขอเงินพ่อแม่เพื่อให้ “มี” เท่า ๆ กับเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือโทรศัพท์ ส่งผลให้พ่อแม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องรูดบัตรเครดิตแต่ก็จ่ายไม่หมด พะรุงพะรังดอกเบี้ยมหาโหด จนกว่าจะแทบใช้หนี้คืนได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น

ล่าสุดกรณีที่ @khajochi เล่าให้ฟังในทวิตเตอร์เมื่อวันก่อน คือ ลูกขอเงินแม่ซื้อ iPhone 5 แม้ว่าจะใช้ BB อยู่ ตอนแรกแม่ก็บอกว่าไม่มีเงิน แต่ทนแรงตื๊อลูกไม่ไหว ก็เลยจัดการรูดบัตรเครดิตซื้อ iPhone 5 ให้ลูก 2 คน คนละเครื่อง เป็นหนี้บัตรเครดิตเรียบร้อยไปแล้ว 50,000 บาท

ไม่รู้ว่ากรณีนั้น แม่จะมีเงินมาคืนบัตรเครดิตในครั้งนี้หรือไม่ แต่ผลมาจากการใจอ่อนและรักลูกของแม่ในครั้งนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งจะต้องเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในครอบครัว เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว จึงขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ที่ถูกสอนมาตอนเด็ก ๆ ให้ฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายครอบครัว

ในขณะที่ครอบครัวส่วนใหญ่ใช้วิธีการกำหนดว่า ให้ลูกใช้จ่ายอะไรได้-อะไรไม่ได้ เช่น โทรศัพท์เก่าแล้วรึยัง ถ้ายังไม่เก่า ให้ใช้ต่อ แต่ถ้าเก่าแล้ว แม่ก็ซื้อใหม่ให้ ซึ่งก็เป็นการควบคุมที่ให้ผู้ปกครองมีอำนาจในการ “กำหนดกฎเกณฑ์” อาจเปรียบได้เหมือนกับบุคคลที่มีอำนาจคิดตัดสินใจหรือ “เซ็นเซอร์” อะไรบางอย่าง ไม่ให้สิทธิเสรีภาพเราคิดเอง ซึ่งบางทีอาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่พอใจ ไม่ทัดเทียมกับ “ลูกบ้านโน้น” บ้าง เอามาเปรียบเทียบกับพี่น้องกันเองบ้าง (เช่น ลูกคนโตได้ laptop เพราะแม่เห็นว่าโตแล้ว แต่ลูกคนเล็กไม่ได้ จึงเกิดอิจฉา ฯลฯ)

สิ่งที่แม่เราทำตั้งแต่เราอยู่ ป.4 คือ การให้ “เงินเดือน”

ตั้งแต่เราอยู่ ป.4 และน้องเราอยู่ ป.1 เราจะได้เงิน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ค่าขนมวันละ 20 บาท เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่ได้ไปโรงเรียนทุกวัน เอาไว้ซื้อขนม อีกส่วนคือ “เงินเดือน” ซึ่งตอนเด็ก ๆ ได้เดือนละ 400 บาท ทุกครั้งที่จะใช้จ่ายไม่ว่าจะอะไรก็ตาม (ยกเว้นที่เกี่ยวกับการเรียน เช่น อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์วาดเขียน) ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออ่านเล่น การ์ตูน เทปซีดี ซานริโอ้ หรืออะไรอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ เขาซื้อกัน เราก็จะต้องใช้เงินเดือนส่วนนี้ในการซื้อ ไม่ใช่ขอพ่อแม่ซื้อให้เหมือนเด็กคนอื่น ๆ

“เงินเดือน” นี้แม่จะไม่ให้เราถือไว้ แต่จะมีสมุดเล่มหนึ่งที่เอาไว้จด ทำหน้าที่เหมือน “สมุดบัญชีธนาคาร” จะใช้เท่าไหร่ก็ค่อยมาเบิก จดบันทึกรายการเอาไว้ และนำใบเสร็จมาตรวจสอบรายการ บัญชีที่ว่านี้จะแสดงให้เห็นว่า เงินเหลือเท่าไหร่แล้วและจะบริหารจัดการอย่างไร สามารถนำเงินที่เหลือจากค่าขนม หรือเงินที่ญาติ ๆ ให้ปีใหม่ รายได้พิเศษจากการเขียนบทความลงนิตยสาร (ไม่กี่ร้อยบาท) มาฝากได้ด้วย

ด้วยความที่เป็น “บัญชีธนาคาร” นี้เอง เงินที่ฝากไว้ก็จะมีดอกเบี้ยเมื่อปลายปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่แม้ให้นี่ incentive สูงมาก คือ ดอกเบี้ย 100%! (เงิน x 2) ทำให้เราอยากจะเก็บเงินเยอะ ๆ

วิธีนี้ฝึกการบริหารเงินตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้เด็กได้คิดด้วยตนเองว่า ซื้ออะไร เท่าไหร่ และเมื่อใด โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเข้าไปก้าวก่ายความคิดความอ่าน มากไปกว่าการคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยงบประมาณที่ให้ไว้ แต่ก็ยังมีอำนาจตัดสินใจอยู่บ้างในฐานะผู้ที่กุมเงินไว้ (เช่น หากเด็กอายุ 10 ขวบจะขอเงินเอาไปซื้อบุหรี่แบบนี้คงจะมากไปนิด) นอกจากนี้ เด็กจะไม่สามารถโวยวายได้ว่า แม่ไม่ยุติธรรม! หนูอยากซื้อนี่นั่นแต่เงินหมด! เพราะระบบบัญชีจะเขียนชัดเจนอยู่แล้ว และยิ่งหากมีพี่น้องจะเห็นได้ชัดว่าใครใช้ไปเท่าไหร่ ใครประหยัดกว่าใคร และผลจากการประหยัดทำให้คน ๆ นั้นได้โบนัสเป็นดอกเบี้ยงาม ๆ

เท่าที่เจอมากับตัวเอง เราชอบระบบนี้มากเพราะได้ฝึกการวางแผนล่วงหน้า เช่น เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทุก ๆ งานสัปดาห์หนังสือตอนเดือนเมษายนของทุกปี เราจะใช้เงินซื้อหนังสือประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะมาจากเงินที่เราเก็บมาทั้งปี ((400 x 12) x 2 เท่า หากไม่ได้ใช้ถึงสิ้นปี) โดยที่เราไม่ต้องไปขอแม่เป็นรายครั้งและคอย justify เหตุผลว่า เราซื้อหนังสือแพง เพราะเราไม่ซื้อเกมนินเทนโด้ เป็นต้น

และเราก็พบว่าระบบนี้ฝึกนิสัยให้เราสามารถวางแผน “การออม” ได้ตอนที่ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษและได้เงินเดือนจาก ก.พ. เดือนละ 730 ปอนด์ (รวมค่าบ้าน – ซึ่งภายหลังขึ้นเป็น 830 ปอนด์) โดยที่ไม่ต้องรบกวนเงินจากพ่อแม่เพิ่มเติม และเมื่อครบสิ้นปีการศึกษา เราก็มีเงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับบ้านที่เมืองไทย

ใครอยากจะนำระบบนี้ไปพัฒนาใช้กับครอบครัวของตนเองก็ตามสบายเลยนะคะ ได้ผลเป็นอย่างไร มาบอกกันสักนิด ^^


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *