พื้นที่สีเขียวกับชีวิตคนเมือง

เร็วๆ นี้ผู้เขียนได้ย้ายมาทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ เกาะเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากทิศหนึ่งไปยังอีกทิศหนึ่งของประเทศ ยังไงก็ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

สิงคโปร์เป็นประเทศที่คนไทยมักจะนึกถึงแต่ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจบริการซึ่งทำรายได้อันดับหนึ่งเข้าประเทศ แต่ท่ามกลางชีวิต “คนเมือง” ในดินแดนแห่งสิงโตแห่งนี้ มีเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อยในฐานะเมืองหลวงที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากที่สุดในทวีปเอเชีย

แม้ว่าสิงคโปร์จะมีขนาดเล็ก และมีประชากรจำนวนไม่น้อยคือประมาณ 5 ล้านคน (ซึ่งเป็นชาวต่างชาติอยู่สัดส่วนค่อนข้างมาก) แต่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในเอเชีย 22 ประเทศ แล้วสิงคโปร์กลับกินขาด

จากการสำรวจของ Economist Intelligence Unit เมื่อปีก่อน ประชากรชาวสิงคโปร์แต่ละคนมีพื้นที่สีเขียวถึง 66 ตารางเมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยในเอเชียอยู่ที่ 39 ตารางเมตร กัวลาลัมเปอร์ 44 ตารางเมตร ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อประชากรเท่านั้น (น้อยกว่าสิงคโปร์ถึง 22 เท่า แม้ว่าพื้นที่จะรวมกันใหญ่กว่าเกือบ 10 เท่า)

ภายใน Flower Dome ของ Gardens by the Bay

สำหรับสิงคโปร์ ไม่เพียงแต่สวนสาธารณะที่พบเห็นได้ทั่วไป พื้นที่ทางเท้าเกือบทุกแห่งได้ถูกจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเป็นสัดส่วนกับพื้นที่คอนกรีต และมีการสร้างสวนจำลองดังเช่น Gardens by the Bay ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณ Marina Bay อีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียวรอบนอก และโดม biosphere ขนาดยักษ์ 2 ลูก ที่จำลองสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และภูมิอากาศแบบทะเลทรายขึ้นมา ให้ได้ชื่นชมและศึกษา

แม้ว่าจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดูจะไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ concept ของ Gardens by the Bay คือ ระบบที่ “self-sustainable” โดยมี “super-tree” สีม่วงหน้าตาประหลาดราวกับที่จอดจานบินมนุษย์ต่างดาว รับแสดงอาทิตย์เข้าสู่ solar cell แล้วแปลงเป็นพลังงานใช้ในสวน โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานจากภายนอก

Gardens by the Bay จากมุมสูง มองเห็น super-trees และสวนรอบนอก

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียวในลักษณะใดก็ย่อมส่งผลดีกับสุขภาพของประชากรในชุมชน นอกจากจะช่วยดูดซับมลพิษซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงของต้นไม้ที่นับว่าจะเหลือน้อยลงไปทุกทีในตัวเมือง ยังส่งผลดีต่อการดูดซับน้ำฝนเมื่อยามฝนตก และทำหน้าที่เป็นเกราะบังลมฝน และยังส่งผลดีต่อสุขภาพกาย ในฐานะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับคนเมืองที่สามารถมาใช้ประโยชน์กันได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ถีบจักรยาน หรือแค่การเดินชมสวนธรรมดา ๆ ก็แน่นอนว่ามีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีตามมา โดยที่พื้นที่สีเขียวเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้โดยประชากรทั้งมวล แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถมีสุขภาพที่ดีได้ถ้วนหน้าไม่แพ้กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนส

พื้นที่สีเขียวยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนในชุมชน เป็นที่พบปะระหว่างผู้คนที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ที่เห็นได้ชัด คือนิวยอร์กซิตี้ที่มี Central Park กลางเมืองเป็นที่นัดพบ หนุ่มสาวจูงมือเดิน เล่นไอซ์สเก็ตในฤดูหนาว ลอนดอนก็มี Hyde Park เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง พร้อมด้วยสวนสาธารณะอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในชุมชนนั้น ๆ แม้ว่าชีวิตจะเคร่งเครียดสักเพียงไหน

เมื่อมองกลับมาที่กรุงเทพฯ แล้ว ชีวิตที่อยู่ในห้างสรรพสินค้ายามว่างของผู้คน มันช่างห่างไกลคุณภาพชีวิตที่ดีแบบนั้นมากนัก แต่เราก็ได้หวังแค่ว่า พื้นที่เขียวในกรุงเทพมหานครถ้าไม่เพิ่มขึ้นก็ขอให้ไม่ลดน้อยลงไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพื่อคน 10 กว่าล้านคนที่อาศัยอยู่ในหนึ่งในเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียแห่งนี้


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *