คุ้มมั้ยถ้าให้ลูกเรียนอินเตอร์เมืองไทย?

เมื่อไม่นานมานี้ มีคนถามเราว่า “คุ้มมั้ยถ้าให้ลูกเรียนอินเตอร์เมืองไทย?” ด้วยความที่เราเองก็ไม่เคยเรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่เมืองไทย แต่ก็ได้คลุกคลีกับเด็กอินเตอร์พอสมควร ทั้งเพื่อนที่อยู่ที่โน่น และเด็กอินเตอร์ที่เคยมาให้ติวต่าง ๆ ก็จะขอตอบจากประสบการณ์ที่เคยเจอ/ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ดังนี้ค่ะ

ถ้าถามว่า “คุ้มมั้ย?” ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึง เด็กอินเตอร์ที่จบมาจะมี career ที่ make money ได้มากกว่าเด็กที่จบโรงเรียนไทยทั่วไปไหม โดยเฉลี่ยก็น่าจะได้เปรียบเมื่อคำนึงถึงภาษาและสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างทางทัศนคติ ที่เอื้อให้เกิดโอกาสทำงานบริษัทที่มีความเป็น international หรือทำงานต่างประเทศ และสร้าง connection ต่าง ๆ ด้านธุรกิจ อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่า คิดถึงเงินที่จ่ายไปนี่คุ้มไหม เพราะโรงเรียนอินเตอร์มีตั้งแต่ราคาแสนนิด ๆ ไปจนถึงเกือบล้านต่อปี อันนี้บางทีการเรียนอินเตอร์อาจไม่ได้ตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์..

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่เด็กเรียนอินเตอร์เมืองไทย บ้านมีเงินอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ก็อาจจะไม่สนว่าคุ้มมั้ยในเชิงการเงิน เพราะพ่อแม่ก็หวังให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าเด็กอินเตอร์จะเก่งกว่าเด็กโรงเรียนไทยทุกคน หลายคนมีภาพว่าเด็กอินเตอร์มักจะอ่อนวิชาการ ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับว่า หากเป็นหลักสูตรสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์จะไม่เรียบครอบคลุมเท่า แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีการเรียนการสอนที่สอนให้คิดนั้นจะไม่ทำให้เด็กคนนั้นสามารถต่อยอดในระดับมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ดี สายสังคมศาสตร์ของเด็กอินเตอร์นั้นอาจดีกว่าโรงเรียนไทย ด้วยซ้ำ เพราะมีวิธีสอนให้คิดและวิเคราะห์เป็น มากกว่าแค่การท่องจำ

สำหรับเรื่องภาษา แน่นอนว่า ภาษาเด็กอินเตอร์ส่วนใหญ่ก็ย่อมดีกว่าเด็กโรงเรียนไทย แต่หลายโรงเรียนที่เด็กไทยมีจำนวนมาก ก็ทำให้ไม่ได้ฝึกภาษาอังกฤษเท่าที่ควรจะเป็น หรือฝึกแล้วแต่ว่า ทักษะต่าง ๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาเขียน หลายคนอยู่ในขั้นใช้ไม่ได้ เมื่อเทียบกับคนอังกฤษ/อเมริกันทั่วไป ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เพราะภาษาเขียนนั้นอยู่ที่การฝึกฝน เหมือนกับคนไทยที่ไม่ใช่ทุกคนสามารถ “เขียนได้”

เด็กเรียนอินเตอร์ในไทยแล้วไปไหน? สำหรับอนาคตของเด็กอินเตอร์นั้น แบ่งเป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ
– เด็กที่เรียนระบบ US: ถ้าไม่เรียนต่อในไทย ก็จะไปเรียนต่อ US เกือบร้อยทั้งร้อยในช่วงเข้ามหาวิทยาลัย
– เด็กที่เรียนในระบบ UK: จะไปเรียนต่อ UK หรือ US ตอนอายุ 13-18 ปี
– เด็กจากทั้ง 2 ระบบ ส่วนหนึ่งจะเข้าคอร์สอินเตอร์ในไทยที่ปัจจุบันมีมากมาย แล้วสุดท้ายก็ต่อด้วยการไปเรียนต่อปริญญาโทเมืองนอกตามมา
นอกนั้น ก็อาจจะเรียนต่อประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นต้น
ส่วนสาขาที่นิยมเรียนนั้น เท่าที่สังเกตก็คือ Business กับ Engineering น่าจะมากที่สุด สาขาอื่น ๆ ก็มีบ้าง เช่น เศรษฐศาสตร์ การเงิน พวกที่จะเรียนเป็นหมอก็ทำได้ แต่มักจะไปต่างประเทศเลย

เงินที่ลงกับโรงเรียนอินเตอร์ถือว่าไม่น้อย ถ้้าพ่อแม่สามารถสนับสนุนได้ การลงทุนที่คุ้มที่สุดตามความเห็นส่วนตัวของเราคือ ให้เรียนโรงเรียนไทยไปก่อนในช่วงเด็ก ๆ (@tonnellato เห็นว่า เรียนอนุบาลอินเตอร์ก่อนน่าจะดี) แล้วอายุ 13-14 ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็จะได้ภาษาอังกฤษในระดับที่ไม่อายใคร เหตุที่ให้เรียน รร.ไทยก่อนมีข้อดี คือ ได้ภาษาไทยและเข้าใจอะไรไทย ๆ หากจะกลับมาทํางานเมืองไทยจะไม่ต้องปรับตัว แต่ถ้าคิดว่าจะไม่กลับมาทำงานที่ไทยหรืออะไร ตรงนี้ก็ไม่ได้สำคัญ

ทำไมต้องไปตอน 13-14 ปี? คำตอบคือ การไปตอนอายุ 13-14 ปี ยังอยู่ในช่วงที่ “ปรับตัวได้ง่าย” จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเห็นมานั้น การเรียนต่อต่างประเทศ…
– ก่อนอายุ 11 จะได้ Eng เหมือนเจ้าของภาษาเป๊ะ ๆ
– อายุ 12-15 จะได้ระดับ 98% คือ แสลงลึกๆ หรือศัพท์ยากสุด ๆ บางตัวจะไม่รู้แล้ว
– อายุ 15-18 จะได้ระดับ 80-95% ขึ้นกับสภาพแวดล้อม ส่วนที่ไม่ได้ 100% เพราะจะมีศัพท์บางจำพวก เช่น แสลงโบราณ ๆ จะไม่เก็ท เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นตั้งแต่เด็ก

อย่างที่บอก…อายุมากกว่า 13-14 ปี สามารถปรับตัวให้เก่งอังกฤษได้อยู่ โดยจะต้องฝึกฝน หากอายุเกินนี้แล้ว ไม่สามารถเรียนอย่าง “ธรรมชาติ” ได้ 100% มันจะต้องมีการฝึก ตั้งใจ “ลอกเลียนแบบ” ถึงจะทำได้ perfect

อย่างไรก็ดี อย่างที่ @tonnellato บอก ภาษาไม่ perfect ไม่ได้แปลว่า จะไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ดี หรือจะทํางานใน UK/US ไม่ได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับประเภทงานเป็นสำคัญ เช่น พวกสาย IT ก็ไม่ต้องเก่งมาก แต่หากเป็นสายงานที่ใช้ภาษามาก ๆ เช่น Law คงต้องเป๊ะอยู่ในระดับหนึ่ง..

ขอให้โชคดีในการตัดสินใจค่ะ ^^


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *