เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาถูกเชิญไปงาน ๆ หนึ่งที่เรียกว่า “Recommerce” งานนี้เป็นการเปิดตัวโครงการ “Say Swop” ของแสนสิริ โดยวิธีการแบบใหม่ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เทรนด์ที่มาแรงจากเว็บไซต์ www.trendwatching.com ที่เรียกกันว่า “Recommerce” เข้ามาช่วยในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกบ้านโดยการแลกเปลี่ยนของกัน..จากการสื่อสารแบบออนไลน์
ความน่าสนใจของงานนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวเว็บไซต์ www.sayswop.com ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลูกบ้านแสนสิริโดยเฉพาะ แต่เป็นคอนเซ็ปต์ Recommerce ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เข้ากับยุคเศรษฐกิจตกต่ำ และการรณรงค์เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก เป็นอย่างดี
“Recommerce” น่าจะมาจากคำว่า “Re-” (ที่แปลว่า ทำอีกครั้ง) กับ “e-commerce” หรือการค้าขายออนไลน์ แต่ไม่ใช่การค้าขายจาก B to B หรือ B to C แต่เป็น C to C ซึ่งในหลายกรณีรวมทั้ง “Say Swop” นี้จะเป็นในลักษณะของ barter trade หรือการแลกเปลี่ยนโดยไม่ใช้เงินทอง
วิดีโอข้างบนนี้เป็น Infographic Video อธิบายที่มาของ Recommerce ซึ่งบอกว่า เกิดจาก 3 ปัจจัย
- Nextism : การซื้อของล่วงหน้า
- Statusphere : การซื้อของเพื่อสถานะ
- Excusumption : การบริโภคเกินความจำเป็น
วิธีการของ “Say Swop” สนับสนุนให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านใกล้กันแลกเปลี่ยนของชิ้นใดก็ตามที่คุณซื้อมาแล้วแต่ไม่ได้ใช้ แต่มีเพื่อนบ้านกำลังต้องการพอดี อาทิ มีเก้าอี้ ต้องการแลกกับพรมปูพื้น โดยมี “Say Swop” www.sayswop.com เป็น Social Network สื่อกลางระหว่างคุณกับเพื่อนบ้านเหล่านั้น วิธีนี้เป็นวิธี barter trade โดยตรง
แต่บางคนอาจมองว่า Recommerce มีความหมายกว้างไปกว่านั้น คือรวมถึงร้านค้ามือสอง (offline) ด้วย ดังเช่นที่คุณภาวุธ แห่ง tarad.com ได้ยกตัวอย่างร้านค้าของมือสองในเกาหลีที่รับบริจาคของใช้ต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในสภาพขายได้ หรือว่าตัวอย่างร้าน Oxfam ซึ่งเป็นองค์การการกุศลที่อังกฤษ ซึ่งรับบริจาคของเพื่อนำไปขายต่อ และหารายได้เข้าทำการกุศล
Oxfam เป็นองค์กรการกุศลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของ UK ไม่มีการเดินเรียกขอเงินตามถนน แต่ขอของบริจาค ซึ่งจะนำไปขายในร้านค้า Oxfam ที่มีกว่า 1,200 แห่งทั่วโลก และ 750 ในนั้นอยู่ใน UK สำหรับนักเรียนที่เรียนที่อังกฤษหลายคนน่าจะเคยได้ไปเป็น “อาสาสมัคร” ที่ร้าน Oxfam ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเราเองก็ทำอยู่ราว ๆ 2 ปี ทุกเช้าวันเสาร์ สมัยอยู่ที่เคมบริดจ์
ร้านค้า Oxfam ใน UK
Oxfam จะนำของประเภทต่าง ๆ ที่คนนำมาบริจาค ซึ่งมีตั้งแต่หนังสือ เครื่องประดับ เสื้อผ้า เก้าอี้ เครื่องดนตรี ของเล่น ฯลฯ มาตั้งราคาและขายต่อ โดยจากสถิติแล้ว 85% ของรายได้ทั้งหมดของ Oxfam นำไปทำการกุศลทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่ 15% ใช้เป็นค่า administrative cost ของร้านค้าและสำนักงาน
หาก Recommerce รวมถึงนิยามร้านค้ามือสองดังเช่นร้าน Oxfam ถ้าหยิบตัวอย่างออนไลน์มา ก็คือรวมถึงธุรกิจขายของมือสองใน Ebay ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคทศวรรษก่อนเสียด้วยซ้ำ รวมถึง Amazon Market ที่ต้องหันมาทำตาม หลายคนก็มองว่าเป็น Recommerce เช่นกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า มีสื่อกลางเป็นเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
นี่เป็นอีกตัวอย่างของ Recommerce ในความหมายแบบกว้าง เป็นการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะของ UK ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีคนใช้แล้วมาทำเป็น “Book Exchange” ด้วยหลักการง่าย ๆ คือ “รับ 1 ให้ 1” ซึ่งจะทำให้มีหนังสือหมุนเวียนกันใน community ตลอดเวลา เริ่มมีหลายที่แล้วใน UK
แน่นอนว่า Recommerce ไม่ทำให้เกิด value ทางเศรษฐกิจในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์ (ไม่นับรวมเป็น GDP, GNP) แต่ Recommerce กลับมีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียดายของที่ซื้อมา รวมทั้งมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของโลกไว้ไม่ให้เกิดการบริโภค (consume) เกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทุกวันนี้ที่ประชากรโลกพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะที่ทรัพยากรหลายอย่างเท่าเดิมหรือไม่ก็หดหายลงทุก ๆ ที
หากเรานำแนวคิดของ Recommerce คือ “รับ 1 ให้ 1” นั้น มาประยุกต์ใช้กับการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือการที่เราใช้ทรัพยากรไปเท่าไหร่ ก็ควรจะผลิตมาทนแทนได้เท่านั้น เมื่อนั้นแหละ โลกเราก็จะพัฒนาอย่างยั่งยืนเสียที..แล้วความสุขของเราก็จะไม่มีวันจำกัด