ว่าด้วยเรื่องของ สสส. กับโฆษณารณรงค์เหล้า/บุหรี่

หลายคนคงรู้จัก สสส. ดีจากโฆษณาในโทรทัศน์ที่รณรงค์ให้คนเลิกดื่มเหล่าไม่ว่าจะเป็น “จน..เครียด..กินเหล้า” “ให้เหล้า = แช่ง” “เลิกเหล้า..เข้าพรรษา” หรือโฆษณาอื่น ๆ อีกหลายชุด แต่รู้ไหมว่า สสส. นั้นค่าใช้จ่ายปีหนึ่ง ๆ ราว ๆ พันกว่าล้านบาท

สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพโดยรวมของประชาชน (ซึ่งเขาบอกว่า ไม่ได้หมายความถึงแค่ระบบรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นการทำให้คนสุขภาพดีตั้งแต่การป้องกัน ก็เลยรวมถึงการงดเหล้า งดบุหรี่อะไรด้วย..)

ประเด็นเรื่องว่า การดื่มเหล้า/สูบบุหรี่ เห็นด้วยหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกกันไม่มีวันจบ เพราะเป็นเรื่องของขอบเขตของกฎหมายว่าควรก้าวก่ายชีวิตส่วนบุคคลแค่ไหน และกรณีนี้ถือเป็น “ส่วนบุคคล” แค่ไหน?

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การลงทุนของ สสส. ในการรณรงค์ให้คนเลิกเหล้า/งดบุหรี่ นั้น คุ้มค่าหรือไม่? คุ้มในที่นี้พูดถึง มูลค่าทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในระบบรักษาพยาบาลที่เงินที่มาสนับสนุนตรงนี้ ก็มาจากภาษีประชาชนเหมือนกัน

ตั้งแต่ที่ สสส.ก่อตั้งมา เป็นเวลา 11 ปี ใช้เงินในการดำเนินการทั้งสิ้นกว่าหมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท 

หนึ่งในงบที่เยอะที่สุดคือ งบประมาณในการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่และดื่มเหล้า (โฆษณารณรงค์เหล้าจะเยอะกว่าบุหรี่) ลองมาดูตัวเลขที่รณรงค์ให้งดสูบบุหรี่กัน ว่างบโฆษณา 143 ล้านบาทต่อปี (เฉพาะเรื่องบุหรี่) จะต้องทำให้คนสามารถเลิกบุหรี่ได้กี่คนถึงจะคุ้มทุน

ตัวเลขนี้มาจาก HITAP ซึ่งเป็น Think Tank ทำวิจัยด้านระบบสาธารณสุข โดยคำนวณจาก “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” ที่สูญเสียไปหากบุคคลคนหนึ่งเป็นคนที่สูบบุหรี่ กล่าวคือ ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย เทียบกับจำนวนคนที่สูบบุหรี่ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งบอกว่า ชายที่สูบบุหรี่ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นประมาณคนละ 1.5 แสนบาท ขณะที่หญิงทำให้เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นประมาณคนละ 8.5 หมื่นบาท

ในงานวิจัยของ HITAP นั้น ไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้ว สสส. คุ้มทุนหรือไม่ เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีการศึกษาโดยละเอียดเรื่องการงดสูบบุหรี่ แต่ก็ได้มีบอกไว้ว่า คนส่วนใหญ่ที่ดูโฆษณา สสส.แล้ว มีแนวโน้มจะเลิกบุหรี่/เหล้า มากกว่าคนที่ไม่ได้ดูหรือคนที่ไม่รู้จัก สสส. โดยคนเพียง 40% เท่านั้น ที่รู้จัก “สสส.” โดยกลุ่มคนที่ไม่รู้จัก สสส. ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อยและรายได้น้อย (สำรวจจากคน 7,000 คน)

แต่ผลการวิจัยระบุด้วยว่า คนที่เลิกบุหรี่/เหล่านั้น ส่วนใหญ่ทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น กล่าวคือ จะกลับมาสูบบุหรี่/ดื่มเหล้่าใหม่ ภายใน 12 เดือน 

สสส. นั้นมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ร้อยละ 2 ต่อปี


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *